จะทำอย่างไร? เมื่อหนูกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์
(What to do? when rats bite Nibble wires in the car)
มีคำถามคำถามหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เขียนยังคงรู้สึกค้างคาใจ เป็นคำถามที่เข้าใจว่า คนถามคงยังไม่ได้พึงพอใจกับคำแนะนำที่ได้รับสักเท่าไหร่ ตอนนั้นในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า คนถามควรอ่านเนื้อหาของบทความที่เกี่ยวข้องให้จบแต่ละตอนเสียก่อน เพราะจะมีคำอธิบายและขยายความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และถ้าผู้ถามยังไม่เข้าใจตรงไหน?อย่างไร?ค่อยมาสอบถามเพิ่มเติมได้อีกภายหลัง จึงได้แนะนำไปตามนั้น ปรากฏว่าคนถามเงียบหายไปเลย
หลังจากนั้นอีกหลายวันถัดมา ผู้เขียนได้มีโอกาสย้อนกลับมาอ่านและทบทวนคำถามนี้ดูอีกครั้ง จึงพบว่าการตอบคำถามแบบนั้นของผู้เขียน "ไม่ค่อยจะเข้าท่าเอาเสียเลย" แทนที่จะตอบให้เคลียร์ชัดเจนกันไปในตอนนั้น กลับโยนความสงสัยคืนไปให้ผู้ถามซะอย่างงั้น สรุปก็คือคนถามก็คงอยากรู้เรื่องเทคนิคที่ยืนยันว่าได้ผลจริงๆและยังอยากให้ผู้เขียนยกตัวอย่างประกอบด้วยเท่านั้น ทำไมต้องให้กลับไปนั่งอ่านเนื้อหาทั้งหมดทำไมอีก? พูดง่ายๆก็คือเขาไม่ได้อยากรู้ทั้งหมด แค่อยากรู้เท่าที่ถามไปเท่านั้น จบป่ะ!
นั่นจึงเป็นที่มาของการเขียนบทความนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อขยายความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก่อนที่จะไปติดตามอ่านเนื้อหาบทความ เรามาดูคำถามนั้นกันก่อนดีไหม?
คำถามถามว่า?
"อยากได้ เทคนิคที่ได้ผลจริงๆ และ สถานการณ์บางสถานการณ์ประกอบด้วยครับ เช่น การไล่หนูใน โรงจอดรถที่มากัดห้องเครื่องรถยนต์ เป็นต้น ขอบคุณมากครับ"
ชัดเจนว่า ผู้ถามต้องการคำตอบเฉพาะที่อยากรู้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ทฤษฏีหรือหลักการที่บางครั้งอ่านแล้วดูเหมือนจะเข้าใจได้ แต่ถ้าจะให้เอาไปปฏิบัติจริงๆ ก็ยังคงไม่แน่ใจสักเท่าไหร่ เพราะว่าผู้ถามเองก็คงยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำจริงๆมาก่อน แต่ผู้เขียนกลับแนะนำให้กลับอ่านต่อไปจนจบเสียก่อน ซึ่งภายหลังมาคิดดูแล้ว มันเป็นการตอบที่ไม่ค่อยตรงประเด็นสักเท่าไหร่ คงต้องขอโทษที่คำแนะนำของผู้เขียนอาจทำให้ผู้ถามคำถามต้องเสียความรู้สึกไปบ้าง ดังนั้นจึงขอถือโอกาสนำข้อสงสัยในคำถามนี้ มาเขียนเป็นบทความเฉพาะเจาะจงลงไปเลย
ทบทวนความรู้ที่เกี่ยวกับหนูบ้านกัน
หนูบ้านเป็นสัตว์ฟันแทะที่จำเป็นต้องลับฟันแทะของมันอยู่เสมอๆ ไม่งั้นฟันแทะของมันก็จะงอกยาวออกไปเรื่อยๆจนมันไม่สามารถหุบปากลงไปไม่ได้เลย และเมื่อถ้าได้เจอวัตถุหรือสิ่งของที่เหมาะกับการลับฟันแทะของมันละก้อ "กัดแทะชนิดไม่ถนอมน้ำใจใครๆทั้งนั้น" แต่ทั้งนี้คงต้องมีเวลาว่างพอด้วยนะ ถ้าไม่ว่างก็ไม่อยากกัดแทะว่าเหอะ
ขอขยายความให้เข้าใจมากขึ้นก็คือ ถ้าอยู่ในช่วงออกหากินตามแหล่งอาหาร มันก็จะตั้งใจกัดแทะกินอาหารเท่านั้น มันจะไม่เสียเวลามากัดแทะอะไรที่อยู่ในบริเวณนั้นเล่นหรอก แต่มันจะเริ่มลับฟันแทะของมันก็ต่อเมื่อ มันมีเวลาว่างจริงๆเท่านั้น เพื่อเป็นการลับฟันแทะและทำความสะอาดฟันของมันและสถานที่ที่มันเลือกก็คือ เส้นทางเดินที่อยูกับบริเวณรัศมีโดยรอบรังใกล้ๆที่พักอาศัยของมันนั่นเอง สรุปสั้นๆก็คือ "เวลากินไม่ เวลาว่างทำ"
นิสัยอีกอย่างของหนูบ้านก็คือ ชอบความสกปรก รกรุงรังในที่อยู่อาศัยเสมอ สถานที่สะอาดสะอ้านและมีความเป็นระเบียบไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ และที่โปรดปานมากก็คือ สถานที่มีบรรยากาศเดิมๆ รกรุงรังอยู่เสมอๆ ไม่มีการเคลื่อนที่หรือขยับสิ่งของเครื่องใช้ไปมาเลย เพราะเจ้าหนูบ้านเหล่านี้จะถือว่า เป็นสถานที่ที่คนไม่ใช้ประโยชน์แล้ว พวกมันมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะอยู่อาศัยและครอบครองแบบปรปักษ์(ปล่อยทิ้งนานเกิน 1 เดือนขึ้นไป) สามารถซ่อนตัวหรืออยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี สิ่งของเครื่องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในบริเวณนั้น มันสามารถใช้เป็นที่ลับฟันแทะที่คมกริบของพวกมัน เช่น สายไฟ สายหัวเทียนรถยนต์ อุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ ขอบช่องประตู-ลิ้นชักตู้ เป็นต้น
Credit : ภาพยนต์เรื่อง Ratatouille พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก 1
หนูบ้านที่ชอบกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์
โดยปกติแล้ว นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนูบ้าน มักจะแบ่งชนิดของหนูบ้านออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ หนูท่อ หนูท้องขาว หนูจี๊ดและหนูหริ่งตามลำดับ
ซึ่งเป็นการแบ่งตามลักษณะการหากินของหนูบ้าน ดังนี้
- หนูท่อ - เป็นหนูบ้านขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหนูบ้านทั้งหมด จะมีนิสัยและพฤติกรรมในการออกหากินและอาศัยขุดรูเป็นโพรงลงไปใต้ดินนอกตัวบ้านอาคารที่พักอาศัยหรืออาศัยอาศัยตามท่อระบายน้ำ ใกล้กับแหล่งอาหาร เช่น ครัว ร้านอาหาร ตลาดสด เป็นต้น
- หนูท้องขาว - จะชอบปีนป่ายขึ้นไปทำรังอาศัยอยู่บนฝ้าเพดานบ้าน และมักจะหากินอยู่ภายในตัวบ้านเป็นหลัก แต่ก็สามารถกระโดดจากรังอาศัยไปยังต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้กับตัวอาคารบ้านเรือนได้ เพื่อไต่ลงไปหาอาหารจากภายนอกบ้าน(กรณีที่ภายในบ้านไม่มีอาหารให้กิน) นอกจากนั้นมันยังอาจทำรังอาศัยบนต้นไม้เป็นรังอาศัยแห่งที่2 เพื่อใช้สำรองหลบภัยได้
- หนูจี๊ดและหนูหริ่ง - ก็หากินในบ้าน ชอบอาศัยตามหลังตู้ ลิ้นชักตู้ ดังนั้น หนูที่อยู่ในข่ายที่มีโอกาสจะกัดแทะสายไฟหรืออุปกรณ์ในรถยนต์ ก็ไม่น่าจะพ้นทั้ง 4 ชนิดนั่นแหละ อยู่ที่ว่าสถานที่และสิ่งแวดล้อมในสถานที่นั้นๆ จะเหมาะสมหรือว่าเอื้อต่อการอยู่อาศัยของหนูบ้านชนิดไหนมากกว่ากัน

แม้ว่าหนูบ้านทุกชนิด จะอยู่ในข่ายที่จะกัดแทะสายไฟในรถยนต์ได้เหมือนๆกัน แต่จากการศึกษาพฤติกรรมของหนูบ้านในภาคสนาม พบว่า หนูท้องขาวเป็นหนูซึ่งมีอัตราการกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์มากที่สุด ด้วยมีฟันกัดแทะขนาดกลางๆที่ทรงพลังและมีขนาดตัวที่ปราดเปรียวไม่เทอะทะมากนัก ทำให้สามารถปีนป่ายได้อย่างสะดวกและคล่องแคล่ว สามารถมุดรอดช่องต่างๆไปมาภายในตัวเครื่องรถยนต์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ "หนูท้องขาว" เป็นยอดนักกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ที่สำคัญในรถยนต์ตัวยงทีเดียว ส่วนหนูท่อ หนูจี๊ดและหนูหริ่งก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับนิสัยและพฤติกรรมที่มันเป็นอยู่เมื่อเทียบกับหนูท้องขาวแล้ว นับว่ายังมีการกัดแทะที่ไม่มากเท่าไหร่นัก เพราะองค์ประกอบของโอกาสในการนำไปสู่การกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ต่างๆในรถยนต์ เป็นปัจจัยสำคัญในการเอื้อโอกาสให้หนูท้องขาวเข้าไปกัดแทะได้มากและพบบ่อยที่สุด
สรุปก็คือ ด้วยขนาดตัวที่ปราดเปรียว สามารถปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว มุดรอดไปตามช่องต่างๆได้ดี มีเส้นทางการออกหากินจากรังอาศัยถึงแหล่งอาหารไม่ไกลนัก สามารถนำเอาอาหารมาหลบซ่อนตัวเพื่อกินอาหารในห้องเครื่องรถยนต์ได้เป็นอย่างดี ไม่มีอันตรายจากสัตว์เลี้ยงอื่นๆในบ้าน(ยกเว้นงูเหลือมแอบเข้ามากิน) กินเสร็จก็สามารถลับฟันแทะให้สั้นสวยงามเสมอปากได้ และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม?หนูท้องขาวจึงเป็นหนูบ้านที่กัดแทะทำลายสายไฟและอุปกรณ์ภายในรถยนต์มากที่สุด
หนูกัดแทะอะไรในรถยนต์
เท่าที่พยายามรวบรวมคำบ่นจากหลายๆท่านที่โดนหนูกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์ ตามเว็บไซด์ต่างๆ พอสรุปได้คร่าวๆดังนี้
- สายไฟต่างๆในห้องเครื่อง
- สายท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
- ท่อน้ำฉีดกระจก ท่อไอดี
- กรองอากาศ
ระบบท่อแก๊สติดรถยนต์(กรณีรถยนต์ใช้แก๊สติดรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง) รถยนต์อาจเกิดไฟไหม้ได้โดยเราอาจจะทราบเพียงแต่ว่า ท่อแก๊สรั่วเท่านั้น
หนูบ้านชอบทำรังที่ไหน?ในรถยนต์
นิสัยการทำรังของหนู โดยเฉพาะหนูขนาดกลางแลขนาดเล็ก เช่น หนูท้องขาว หนูจี๊ดหรือหนูหริ่งนั้น มักชอบทำรังในสถานที่ปลอดภัยกับครอบครัวของมัน โดยพิจารณาจากการป้องกันศัตรูของมันเป็นสิ่งแรกสุด ดังนั้นจึงเลือกที่จะทำรังในสถานที่ที่ค่อนข้างลับตาที่สุด หลังจากนั้นก็ต้องอยู่ใกล้กับแหล่งอาหารที่มันหมายตาเอาไว้(รัศมีโดยรอบไม่เกิน 50 เมตร) แต่ถ้าเลือกได้ "ยิ่งใกล้ยิ่งดีที่สุด" ส่วนห้องเครื่องรถยนต์เท่าที่รวบรวมได้ดังนี้
- จุดที่ลึกลับซับซ้อนในการพรางตัวมากที่สุด ที่นิยมทำรังบ่อยที่สุดก็คือ ตรงด้านในอุปกรณ์แฟริ่งแถวเรือนไมล์รถยนต์ เพรามันและลูกๆสามารถซ่อนตัวและป้องกันตัวเองจากศัตรู อาทิ งูชนิดต่างๆได้เป็นอย่างดี แค่ติดเครื่องรถยนต์เฉยๆแต่ไม่ได้ขับออกไปไหน ก็ไม่มีผลต่อรังมันได้เลย
- บริเวณกล่องฟิวส์
- บริเวณห้องดักลม
- ช่องแอร์
สถานจอดรถที่เสี่ยงต่อการที่หนูชอบเข้ามาลับฟันแทะมากที่สุด
- สถานที่จอดรถส่วนใหญ่จะเป็นห้องแคบๆ อากาศถ่ายเทได้น้อย มีหยากไย่และสิ่งของวางกองด้านข้างเต็มไปหมด ไม่ค่อยมีการทำความสะอาดและไม่ค่อยมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของบ่อยๆ เสมือนเป็นการดึงดูดให้หนูเข้ามาทำรังหรือลับฟันกัดแทะของมันได้
- อยู่ใกล้แหล่งอาหารและรังหรือโพรงที่พักอาศัยของหนูบ้าน เช่น ตลาดสด ร้านอาหาร ห้องครัว ที่ให้อาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งการจอดรถไว้หน้าบ้านหรือที่พักอาศัย แต่ตรงข้ามหน้าบ้านดันมีร้านขายอาหารที่ทิ้งเศษอาหารเรี่ยราด หรือแม้แต่มีบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้กับตลาดสด
- มีการจอดรถยนต์ทิ้งไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งนานๆ โดยไม่ได้มีการติดเครื่องยนต์หรือขับเข้าออกจากสถานที่จอดรถอยู่เสมอๆ
- จอดรถในที่ไม่ควรจอด อาจนำหนูกลับบ้านโดยไม่รู้ตัว เช่น ไปกินร้านอาหารข้างทางแล้วนำรถไปจอดใกล้ๆกับแหล่งอาหารที่หนูมีอยู่ มีโอกาสที่หนูจะแอบเอาเศษอาหารเข้าไปกินในห้องเครื่อง โดยเราไม่รู้แล้วนำกลับมาที่บ้านด้วย
- ที่จอดรถอยู่ในเส้นทางการเดินทางของหนูจากรังไปแหล่งอาหาร -หนูอาจจะใช้เป็นที่นั่งกัดแทะอาหารกินหรือเลือกเป็นทำรังชั่วคราวอีกแห่งก็ได้ ซึ่งก็จะสะดวกและมีความปลอดภัยดียิ่งขึ้น
- บ้านพักอาศัยและบริเวณโดยรอบสถานที่จอดรถ ค่อนข้างสกปรก รกรุงรัง ขาดการดูแลเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบ ทำให้กลายเป็นที่หลบพักกินอาหารและที่อยู่อาศัยของหนูโดยปริยาย
- ตลาดสด เป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสที่หนูท่อ(มีมากในตลาดสด)จะแอบเอาเศษอาหารเข้ามากินภายในห้องเครื่องรถยนต์ หลังจากนั้นก็จะทำความสะอาดและลับฟันแทะของมันด้วยการกัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ภายในห้องเครื่องรถยนต์ต่อ ยิ่งพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องนำรถมาจอดทิ้งไว้ตลอดทั้งวันเป็นประจำ(หลังจากต้องเอานำของมาของขายที่ตลาด) บางทีเผลอนำเอาหนูติดรถกลับมาบ้านด้วย โรงเก็บรถยนต์ก็เลยกลายเป็นวิมานของหนูไปด้วยประการนี้
ตัวอย่าง รูปแบบโรงจอดรถ จาก http://www.decorreport.com เอามาฝากกัน สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้(ตามงบประมาณที่มีในกระเป๋า)
โรงจอดรถที่แยกจากตัวบ้าน
โรงจอดรถที่ติดกับตัวบ้าน
โรงจอดรถที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน
กลยุทธ์หลากหลายวิธีที่เคยใช้ไล่หนูที่กัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์
เป็นประสบการณ์บางส่วน ที่หลายต่อหลายท่านเคยประสบปัญหาหนูเข้ามากัดแทะและทำลายอุปกรณ์ที่สำคัญอื่นๆในห้องเครื่องรถยนต์ มาบอกและแนะนำกัน ซึ่งมีทั้งได้ผลในระยะแรกๆและไม่ได้ผลในระยะยาว ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
- เปิดฝาเครื่องไว้ - มีความเขื่อว่าหนูไม่ชอบที่โล่งแจ้ง สว่างๆหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก
- เปิดไฟนีออนไว้ - เชื่อว่าหนูไม่ชอบแสงสว่างมากๆ ทำให้ไล่หนูให้หนีไปได้
- วางลูกเหม็นหรือยากันยุง - เชื่อว่ากลิ่นที่ฉุนจัดๆ สามารถไล่หนูได้
- หั่นมะกรูดเป็นวางไว้ - เชื่อว่ากลิ่นมะกรูดจะสามารถไล่หนูได้
- ใช้น้ำมันดีเซลวาง - เชื่อว่ากลิ่นน้ำมันดีเซลจะสามารถไล่หนูได้
- วางกรงดักหรือวางถาดกาวดักหนู - เพื่อดักจับหนู
- เอาเบนซินผสมน้ำ เช็ดในห้องเครื่อง ให้มีกลิ่นน้ำมัน - สามารถไล่หนูได้ (แต่มีข้อแนะนำว่า ให้ระวังเรื่องสายยางต่างๆด้วย กรอบไฟหน้าด้วย เดี๋ยวหมอง)
- เลี้ยงแมวหรือสุนัข - เพื่อไล่หนู(ให้ระวังสุนัขอาจจะตะกุยหน้ารถตอนจับหนู)
- ล้างห้องเครื่อง - เป็นการทำความสะอาดห้องเครื่องรถยนต์ทั้งหมด กำจัดรังและตัวหนู
- ไม้ไล่หนู - เชื่อว่ากลิ่นของไม้ไล่หนูจะสามารถไล่หนูได้
- เครื่องอิเลคทรอนิคไล่หนู - ปล่อยคลื่นความถี่ต่ำออกไปรบกวนหนู ทำให้หนูหนีไป
Credit : http://www.mejipower.com ,http://www.thai-health.net
จากวิธีทั้งหมดที่เล่ามา เท่าที่ทราบ ยังไม่มีวิธีไหนจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องหนูกัดแทะสายไฟและทำลายอุปกรณ์ในรถยนต์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลย เพราะส่วนใหญ่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสียมากกว่า โดยความเห็นส่วนตัว เป็นความพยายามที่ดีแล้ว หลายวิธีใช้ได้ดีแต่คงต้องผสมผสานองค์ความรู้อื่นๆที่เหมาะสมเข้าไปด้วย เพราะหนูบ้านเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับคน แถมมีความเฉลียวฉลาดในการเรียนรู้เป็นเลิศ การที่จะใช้วิธีแบบมวยวัดเข้าซัดตรงๆทื่อๆ คงไม่ค่อยจะได้ผลสักเท่าไหร่? ถ้าอยากเอาชนะเจ้าสัตว์กัดแทะพวกนี้ได้ ต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าสัตว์พวกนี้ให้มากๆหน่อย ลองไปอ่านเคล็บลับกัน
เคล็ดลับในการควบคุมและกำจัดหนูบ้านให้ได้ผล มีดังนี้
- จัดการเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบ ทำเป็นโครงการ 5 ส.ของเราได้เลยยิ่งดี
- ควบคุมแหล่งอาหารของหนูหรือที่หนูใช้เป็นอาหารให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้หนูกินได้ตามใจชอบ
- ทำลายแหล่งทำรังหรือพักอาศัยของหนู ปิดรูหรือโพรงที่หนูอาศัยให้หมด
- กำจัดที่ตัวหนู โดยใช้วิธีการที่เหมาะสมกับชนิดของหนู (แบบผสมผสานจะมีประสิทธิภาพมาก)
- ถ้าบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะอยู่ติดหรืออยู่ใกล้ชิดกันมาก "ต้องร่วมมือกันเท่านั้น" ถึงจะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ไม้ตายขั้นสุดท้าย "ใช้ตลับใส่เหยื่อพิษหรือกระบอก PVC ใส่เหยื่อพิษ วางเป็นแนวป้องกันรอบโรงจอดรถ โดยเลือกใช้เหยื่อพิษชนิดออกฤทธิ์ช้า(ค่อนข้างปลอดภัยกับคนและสัตว์เลี้ยง) วางตามเส้นทางเดินของหนู ทุก 3-6 เดือน/ครั้ง เป็นวิธีที่จะล่อหนูออกมาจากตัวเครื่องรถยนต์มากินเหยื่อพิษที่เราวางไว้ ในช่วงเวลาที่วางเหยื่อพิษ ควรเก็บเศษอาหารที่เหลือทิ้งให้หมด อย่าเหลือไว้ให้หนูได้กินโดยเด็ดขาด ภายใน 2 - 3 วัน ก็สามารถเก็บซากหนูตายได้แล้ว
แล้วเราจะเริ่มต้นจัดการหนูกันอย่างไร?
ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหากันแบบไหน? อย่างไร? เราควรต้องรู้ก่อนว่า มีหนูกี่ชนิดที่เข้ามากัดแทะสายไฟหรืออุปกรณ์ในรถยนต์ของเรากันบ้าง? กัดแทะอะไรบ้าง? รอยกัดแทะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน? มีเศษอาหารที่หนูมันนำมากินด้วยหรือไม่? กลิ่นฉี่หนูมีมากน้อยแค่ไหน? เคยเห็นตัวหนูวิ่งหรือไม่? มูลหนู รอยเท้าหนูมีที่ไหน?(วิ่งจากไหนไปไหน) แหล่งอาหารของหนูที่พบอยู่ตรงไหนบ้าง? ความสะอาดและเป็นระเบียบของบ้านหรือที่พักของเราเป็นยังไง? สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา เราจำเป็นต้องรู้ เพราะมันเป็นข้อมูลสำคัญที่เราจะจำเป็นต้องนำไปใช้ในการวางแผนเลือกวิธีกำจัดหนูที่เหมาะสมต่อไป ดังสุภาษิตที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง"
วิธีสังเกตร่องรอยหนูที่เข้ามากัดแทะสายไฟ
- การพบเห็นตัวหนูที่วิ่งผ่านในบริเวณ - ว่ามีขนาดใหญ่,กลางหรือตัวเล็ก ลักษณะรูปร่างคล้ายหนูชนิดใด (มีตัวอย่างในบทความที่แล้ว สามารถไปดูเปรียบเทียบได้)
- ลักษณะและขนาดของมูลหนู - สามารถบอกได้ว่า น่าจะเป็นหนูชนิดใด(มีตัวอย่างให้ดูเปรียบเทียบในบทความที่แล้ว วัดขนาดดูก็รู้ได้)
- รอยกัดแทะของหนู - ขนาดของรอยกัดแทะ สามารถบอกได้ว่า น่าจะเป็นหนูชนิดใด รอยกัดแทะใหญ่ ก็น่าจะเป็นหนูที่ตัวโตขนาดใหญ่ แต่ถ้ารอยกัดแทะขนาดกลางก็น่าจะเป็นหนูท้องขาว และถ้ารอยกัดแทะเล็กๆ ก็น่าจะเป็นหนูจี๊ด หนูหริ่งตามลำดับ
- ชนิดของอาหารที่หนูกิน - หนูท่อเป็นหนูที่ชอบอาหารที่มีขนาดใหญ่ บูดเน่าเหม็น ส่วนหนูท้องขาว เป็นหนูขนาดกลางชอบอาหารที่คนกิน รวมทั้งเมล็ดข้าวสาร เมล็ดพืช สำหรับหนูจี๊ด หนูหริ่ง ชอบอาหารจำพวกข้าวสาร เมล็ดพืชต่างๆ เป็นต้น
- การทำรังหรือการอยู่อาศัยของหนู - ถ้าขุดรูหรืออาศัยอยู้นอกบ้าน(ระดับใต้พื้นดิน)ก็น่าจะใช่ "หนูท่อ" ถ้าพบเห็นตามลิ้นชักหรือบนหลังตู้เสื้อผ้าก็น่าจะใช่ "หนูจี๊ดและหนูหริ่ง" แต่ถ้าหากพบทำรังอยู่บ้านที่สูงอย่างบนฝ้าเพดานบ้าน(ฟังเสียงวิ่งก็รู้แล้ว)หรือบนต้นไม้ที่อยู่ติดกับตัวบ้าน ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า จะต้องเป็น "หนูท้องขาว" ชัวร์แน่ๆ
- รอยทางเดินที่หนูใช้ - ระหว่างรังหรือที่อาศัยกับแหล่งอาหาร รวมทั้งตำแหน่งที่มากัดแทะด้วย - ตรงนี้ต้องบอกว่าสำคัญมาก เพราะเราจะใช้ในการวางกรงดัก เหยื่อพิษหรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ไล่หนู(แล้วแต่กรณีที่เราจะเลือกใช้) ดังนั้นเราควรทำแผนผังเอาไว้ โดยอาจเขียนเป็น Mapping ง่ายๆ แล้วทำสัญลักษณ์ที่สำรวจและพบเห็นลงไป เช่น รอยกัดแทะสายไฟหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ รอยกัดแทะกินอาหารหรือนำอาหารมากิน รอยท้องครูดหรือรอยเท้าหนูเดินชิดผนังไป รอยกัดแทะเป็นรูจากฝ้าเพดาน เป็นต้น

รู้เขารู้เรารบกี่ครั้งก็ชนะเสมอ
เมื่อเราทราบชนิดของหนู รู้ร่องรอยหรือเส้นทางเดินของหนู(จากรังอาศัยมากัดแทะสายไฟในรถยนต์) ไม่เว้นแม้แหล่งพักอาศัย รวมทั้งร่องรอยสำคัญอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการกำจัดหรือเลือกวิธีควบคุมหนูบ้านได้อย่างเหมะสม ยิ่งถ้าเราให้ความสำคัฐกับการทำแผนผัง(Mapping) ด้วยแล้ว ยิ่งชัดเจนและง่ายต่อการควบคุมสถานการณ์ที่เราต้องทำให้ได้ผลสำเร็จ ฟันธง!
บันทึกร่องรอยของหนูลงในแผนผัง(Mapping) เพื่อใช้วางแผนและตัดสินใจ
ก่อนอื่นเราควรเขียน Mapping เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการเจ้าหนูบ้านพวกนี้ โดยเราสามารถใช้ประโยชน์จากเจ้า Mapping นี้คือ เอาข้อมูลต่างๆที่สำคัญเอามาเขียนลงบนแผนผัง(Mapping) ว่ารอยกัดแทะ โพรงหรือรูหนู มูลหนู ทางเดินของหนู เสียงร้อง อยู่ตรงไหน?บริเวณไหน? ให้เรียบร้อยครบถ้วน เราก็พร้อมแล้วสำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไปได้ทันที
ตัวอย่าง : แผนผัง (Mapping)
ตัวอย่าง : บ้านเต็มหลัง
วิธีควบคุมกำจัดหนู
ในการกำจัดหรือไล่หนูที่แอบเข้ามากัดสายไฟหรืออุปกรณ์สำคัญในรถยนต์ที่คุณจอดทิ้งไว้ในโรงจอดรถยนต์ นอกจากวิธีการรักษาความสะอาด จัดอุปกรณ์และสิ่งของให้เป็นระเบียบอยู่เสมอๆ(5 ส.) เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านในการควบคุมกำจัดหนูในทุกกรณีแล้วละก้อ ยังมีวิธีอื่นๆที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ การเลือกใช้วิธีเหล่านี้ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดและความสะดวกที่คุณมีอยู่ เรามีตัวอย่างทางเลือกให้คุณพิจารณา ดังนี้
- การใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่งคลื่นความถี่เฉพาะเพื่อไล่หนู – ใช้เน้นไล่หนูให้หนีหน้าไปให้พ้นๆเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตพวกมัน อุปกรณ์ประเภทนี้ ใช้วิธีปล่อยคลื่นความถี่ต่ำออกไปรบกวนหนู ในรัศมีพื้นที่ 200 - 450 ตารางเมตร(โดยประมาณ) ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ถึงจะได้ผล โดยใช้เสียบกับปลั๊กไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือนทั่วไป จากการติดตามการใช้งานจริงในพื้นที่ทดลอง พบว่ามันได้ผลค่อนข้างดีกับหนูบ้านขนาดกลางและขนาดเล็กเท่านั้น แต่สำหรับหนูขนาดใหญ่อย่างเช่น “หนูท่อ” ไม่ค่อยได้ผล มีข้อแนะนำในการเลือกใช้วิธีนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คุณจำเป็นต้องนำมาตรการด้านความสะอาดและความเป็นระเบียบ(5 ส.)มาใช้ร่วมด้วย รับรองเอาอยู่แน่นอนชัวร์! แต่ถ้าจะหวังอาศัยประสิทธิภาพของเจ้าเครื่องประเภทนี้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจกับความสะอาด ความเป็นระเบียบ ยังคงปล่อยให้มีเศษอาหารส่งกลิ่นเย้ายวนจมูกของหนูอยู่ละก้อ "บ่องต่ง" ความอยากมันมีแรงปรารถนาเกินกว่าเครื่องอิเลคโตแมคเนติกพวกนี้จะเข้าใจได้ คนรู้สึกได้ยังไง? หนูบ้านมันก็คิดแบบเดียวกันนั่นแหละ เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนๆกับคนเช่นกัน และบางครั้งก็ยังฉลาดกว่าคนบางคนด้วยซ้ำไป
ตัวอย่าง : เครื่องไล่หนู
- การใช้ถาดกาวดักหนู - ปกติจะเหมาะสำหรับการใช้กับหนูที่มีขนาดไม่ใหญ่มากจนถึงขนาดเล็กสุด ไม่ควรใช้กับหนูท่อที่มีขนาดใหญ่ หรือแม่แต่หนูท้องขาวที่ตัวโตเต็มวัย เพราะมักไม่ได้ผล มันสามารถลากถาดไปได้อย่างสบายมาก เลอะเทอะอุปกรณ์ในห้องเครื่องเปล่าๆ และที่สำคัญมักใช้เป็นตัวช่วยวิธีอื่นเสียมากกว่า จุดประสงค์เพื่อดักจับหนูขนาดเล็กมากว่า ถ้าเป็นหนูตัวใหญ่หน่อย ขณะที่มันสลัดเท้าหนีจากถาดกาว มันก็จะส่งเสียงความถี่ต่ำไปบอกฝูงมันทันที ว่าอันตรายนะอย่าอีกเลย อะไรทำนองนี้ ดังนั้น จึงพบเสมอว่า ถาดกาวดักหนูมักใช้ดักหนูได้ครั้งแรกๆ ครั้งต่อมามักจะไม่ได้ผล
ตัวอย่าง : ถาดกาวดักหนู
- การใช้กรงหรือกระบอกดักหนู – ปกติเราจะใช้วิธีนี้ ต่อเมื่อเราต้องการดักหนู เพื่อนำมาดูว่าในบ้านเรามีหนูชนิดใดบ้าง?ที่อาศัยอยู่ในบ้านเราและสามารถเอาไปคำนวณหาจำนวนประชากรทั้งหมดที่คาดว่าจะมีได้ และที่สำคัญคงต้องมีความชำนาญในการใช้กรงดัก ตลอดจนเข้าใจนิสัยและพฤติกรรมของหนูบ้านแต่ละชนิดเป็นอย่างดีด้วย ถ้ามือไม่ถึงก็ไม่ควรทำ เพราะอาจจะทำให้ไก่ตื่นเสียก่อน เอ๊ย! “ไม่ใช่สิ” ต้องบอกว่าหนูตื่นและระวังตัวเพิ่มมากขึ้น จนเราไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้อีกเลย
ตัวอย่าง : กรงดักหนู
ตัวอย่าง : กระบอกดักหนู
- การใช้กับดักตีตาย – วิธีนี้จะมองดูว่าโหดร้ายก็คงได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ทำได้ค่อนข้างง่ายและได้ผลดีเสมอมา แต่ก็จะได้ผลในระยะแรกๆเท่านั้น ใช้ติดกันหลายวันไม่ค่อยได้ผล เป็นเพียงใช้เสริมวิธีอื่นมากกว่า นอกจากนี้หลังจากกับดักลั่นแล้ว เราต้องนำสเปรย์มาพ่นฆ่าหมัดไรหนูด้วยทุกครั้ง ไม่งั้นวุ่นแน่ เพราะโดยปกติหลังจากหนูตาย (อุณหภูมิภายในตัวก็จะเริ่มลดลง)ภายในประมาณ 20 นาที หมัดไรหนูก็จะออกจากตัวหนู ต่อไปจะเป็นอย่างไร?ไม่อยากจะคิดเลย...
ตัวอย่าง : กับดักตีตาย
ตัวอย่าง : กับดักตีตายโดยใช้แสงเลซอร์

- การใช้เหยื่อพิษกำจัดหนู – เป็นวิธีที่เราต้องการที่จะถอนรากถอนโคนหนูที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณบ้านของเราทั้งหมด โดยปกติจะมีเหยื่อพิษให้เราเลือกใช้อยู่ 2 ประเภท ดังนี้
- เหยื่อพิษแบบที่ออกฤทธิ์เร็ว – ใช้ในกรณีมีหนูจำนวนมากและไม่เข็ดเหยื่อ พูดง่ายๆก็คือ ไม่กลัวใครหน้าไหน เห็นอะไรขวางหน้า “หม่ำเรียบ” วางเหยื่อให้กินปุ๊บแป๊บเดียวก็ชักแหง๋ๆตายทันที แต่ก็มีข้อจำกัดก็คือ ใช้ติดต่อกันนานๆไม่ได้ เพราะอาจหนูจะเข็ดเหยื่อและยังอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในบ้านของเรา (ไม่เว้นแม้แต่คนในบ้าน) ไม่ขอแนะนำให้ใช้เพราะอันตรายเกินไป โดยปกติจะนิยมใช้กับหนูในภาคเกษตรกรรมและต้องใช้อยู่ภายใต้การควบคุมของนักวิชาการเกษตรเท่านั้น
ตัวอย่างเหยื่อพิษแบบที่ออกฤทธิ์เ็ร็ว
-
- เหยื่อพิษแบบที่ออกฤทธิ์ช้า - นิยมใช้ในการควบคุมและกำจัดหนูบ้านโดยเฉพาะเนื่องจากมีความปลอดภัยกับคนและสัตว์เลี้ยงมากกว่าชนิดออกฤทธิ์เร็ว มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดหนูบ้านที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก ที่สำคัญไม่ทำให้หนูบ้านไม่เข็ดเหยื่อ กินเมื่อไหร่ตายยกรังเลยทีเดียว ปัจจุบันพัฒนาการออกฤทธิ์ของยามาสู่ Generation ที่2 แล้ว ทำให้สามารถลดระยะเวลาการกินเหยื่อที่น้อยลง(กินแค่ครั้งเดียวก็ตายได้เลย) เรามาทำความเข้าใจรายละเอียดกัน
-
-
- ประสิทธิภาพและกลไกการออกฤทธิ์ - เดิมการวางเหยื่อพิษประเภทนี้ จะผสมสารพิษกับปลายข้าวทำเป็นเหยื่อพิษ(อัตราส่วน 1 : 19 โดยน้ำหนัก) หนูต้องกินติดต่อกันจนกว่าจะครบระดับปริมาณของยา(Bait Dose) หนูถึงจะตายได้ โดยหลังจากกินยาจนครบระดับปริมาณยาแล้ว จะค่อยๆมีเลือดไหลออกจากอวัยะต่างๆภายในตัวหนู จนขนาดตัวแห้งเหี่ยวลงเรื่อยๆและก็จะตายในที่สุด(ดูเหมือนหนูป่วยตายมากกว่า) ทำให้หนูคิดว่าตัวเองกำลังป่วย ไม่เข็ดเหยื่อ หนูลูกฝูงก็จะออกมาทะยอยกินจนตายเกลี้ยงรังด้วยประการฉะนี้ แต่ใน Generation 2 เขาพัฒนาฤทธิ์ของยาให้กินเพียงครั้งเดียวก็ตายได้เลย หมายความว่า ไม่ต้องกินหลายครั้งเหมือนรุ่นก่อน ก็มีอาการเลือดออกแล้วตายได้เหมือนกัน
-
-
- วิธีการวางเหยื่อพิษ - วางเหยื่อลงในกระบอกใส่เหยื่อพิษ(Bait Box) วางตามเส้นทางเดินของหนูให้กินจนครบระดับปริมาณยา ยาจะเริ่มค่อยออกฤทธิ์ภาย 24 ชั่วโมง - 36 ชั่วโมงโดยประมาณ(อาจเร็วหรือช้าไปบ้าง ขึ้นอยู่กับขนาดตัวหรือความต้านทานต่อฤทธิ์ยา) หลังจากวางยาไปแล้วครบ 1 วัน ให้สังเกตจะปรากฏรอยเลือดออกจากตัวหนูปรากฏตามเส้นทางที่หนูเดินผ่าน เป็นเสมือนแผนที่บอกเส้นทางว่าหนูไปกินอาหารที่ไหนและกลับไปที่รังที่ใด และจากรอยเลือดที่เห็นเราสามารถตามไปเก็บซากหนูตายได้อย่างง่ายได้(แนะนำให้วางน้ำไว้ให้หนูกินด้วย เพราะหลังจากกินยาหนูจะคอแห้งตอยากกินน้ำ ทีนี้เราก็สามารถเก็บซากหนูตายได้ง่ายๆแล้วล่ะ
-
-
- สิ่งที่ต้องทำในช่วงที่เราวางเหยื่อพิษให้หนูกิน - หากต้องการให้ได้ผลตามที่ต้องการ ก่อนการวางเหยื่อ ประมาณ 3 วัน ต้องใช้เทคนิคการกระชับพื้นที่ให้หนูเข้ามาสู่เกมส์ของเราให้ได้ รับรองหนูเกลี้ยงแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำก้คือ การควบคุมแหล่งอาหารที่หนูเคยกินเป็นประจำให้ได้โดยเด็ดขาด(บางกรณีอาจทำไม่ได้ เพราะแหล่งอาหารไม่อยู่ในเขตบ้านเรา) โดยเฉพาะการเก็บเศษอาหารในครัว อาหารแห้งต่างๆต้องเก็บให้มิดชิด ป้องกันหนูแอบเข้ามากินได้ เศษอาหารของสัตว์เลี้ยงที่เหลือกิน จัดการให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการบีบให้หนูมันหากินลำบากมากขึ้น หิวมากขึ้น เวลาวางเหยื่อพิษก็จะได้ง่ายขึ้น ต่อมาก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักน่าชังของเรา ควรขังหรือล่ามไว้ในช่วงที่วางเหยื่อพิษ เพราะอาจไปกินซากหนูที่ตายโดยเราไม่เห็นได้ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า ทั้งยังเป็นการไม่ไปรบกวนการกินเหยื่อพิษของหนูอีกด้วย แต่ถ้ามันพลาดหลุดไปกินซากหนูตายเข้า วิธีแก้ก็คือ การให้สารจำพวกออกฤทธิ์ให้เลือดแข็งตัว เช่น วิตามินเค(K) หรือคั้นน้ำผักที่มีความเข้มข้นของวิตามินเค(K)สูง กรอกปากก็ได้ เช่น ผักคะน้า เป็นต้น และสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการจัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบรวมทั้งความสะอาดของบริเวณทั้งในบ้านและนอกบ้าน
-
-
- สิ่งที่ต้องทำหลังจากกำจัดหนูหมดสิ้นแล้ว - ปิดรูหรือทางเข้าออกหนูเข้าสู่บริเวณบ้านให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันหนุชุดใหม่ที่อาจจะเข้ามาอยู่แทนที่ และให้ย้ายกระบอกวางเหยื่อพิษออกไปอยู่ตามแนวริมรั้วของบริเวณบ้านเรา ยกให้สูงจากพื้นอยากให้น้ำท่วมถึง(อาจใช้วิธีแขวนกระบอกเหยื่อพิษ(แนวนอน)ไว้กับหลักไม่ทั้ง2ข้างด้านก็ได้(เจาะรูร้อยเชือกแขวนไว้) ทีนี้ประมาณ 2 -3 เดือน วางเหยือพิษทีรับรอง ไม่มีหนูเข้ารบกวนในบ้านเราอีกต่อไป เพราะมาก็แค่มากินเหยื่อแล้วกลับไปตายรังเดิมที่มันจากมาเท่านั้นเอง
-
-
- การกำจัดซากหนูตาย - หลังจากหนูตาย(รวมทั้งหมัดไรที่เกาะอยู่บนหนูด้วย) ให้เก็บซากหนูใส่ถุงดำที่ไม่มีรูขาด เขียนป้ายบอกด้วยว่าเป็น "ซากหนูตายนะ" ผูกเชือกให้แน่นก่อนทิ้งถังขยะให้ทางเทศบาลเอาไปกำจัดที่ถูกต้องต่อไป เอาตัวหนังสือแดงเขียนรูป "หัวกระโหลดผี" ลงไปด้วย นักคุ้ยถังขยะเห็นแล้วจะได้ไม่แกะออกดู
ตัวอย่างเหยื่อพิษแบบที่ออกฤทธิ์ช้า (รุ่นที่ 1)
ตัวอย่างเหยื่อพิษแบบที่ออกฤทธิ์ช้า (รุ่นที่ 2)
ตัวอย่างกล่องใส่เหยื่อพิษ
ตัวอย่างกระบอกใส่เหยื่อพิษ
6. การใช้สมุนไพรส่งกลิ่นไล่หนู – วิธีนี้เท่าที่ทราบไม่ค่อยจะได้ผลสักเท่าไหร๋ อาจได้ผลบ้างสำหรับหนูขนาดเล็กๆ (หนูขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ตัวโตเต็มวัยมักไม่ค่อยได้ผล) แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกแบบชาวบ้านๆอีกวิธีหนึ่งซึ่งมีให้เลือกใช้ และหากเราต้องการที่จะเลือกใช้วิธีนี้ ก็คงต้องยอมรับให้ได้กับกลิ่นที่ต้องอบอวลไปทั่วบริเวณบ้าน ถ้าหากคนที่อาศัยอยู่ในบ้านทนได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากทนไม่กลิ่นไหว แม้แต่คนในบ้านก็คงหนีไปกับหนูด้วยเหมือนกัน
สมุนไพรสำเร็จรูปไล่หนู

7. การใช้สัตว์เลี้ยงและสัตว์ธรรมชาาติศัตรูของหนู -
- แมว - คงเคยได้ยินคำว่า "หนูกลัวแมว" มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากต้องการใช้บริการแมวเหมียวๆละก้อ ก็ขอให้มั่นใจก่อนว่า เป็นหนูท้องข้าว หนูจี๊ดหรือหนูหริ่ง รับรองว่าเหมาะสมมาก แต่ควรเปิดฝากระโปรงบริเวณห้องเครื่องรถให้กว้างด้านข้างก็ควรใช้พลาสติกหน้าคลุมด้านข้างรถไว้เพื่อป้องกันการตะกุยสีจากกรงเล็บของแมว
Credit : pet.kapook.com
- สุนัข - หนูทุกชนิดไม่ชอบสุนัขและกลัวเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว(แต่ควรเป็นสุนัขพันธุ์ตัวใหญ่ๆหน่อย) จมูกดมกลิ่นของสุนัขหาหนูไ้ด้ดีมากๆอยู่แล้ว แต่ที่จะเป็นปัญหาก็คือการตะกุยสีข้างตัวรถเป็นรอยนะสิ เจ้าของรถยนต์คงไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไหร่? แต่ถ้าเป็นรูหรือโพรงของหนูท่อที่มักขุดรูอยู่ "โอเคเลย" ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าเป็นหนูท่อ ใช้สุนัขเหมาะที่สุด
- งู - เป็นศัตรูที่หนูแบบทุกชนิดกล้วมากชนิดหนึ่ง เจอกันเมื่อไหร่ หนูจะวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุนเลยที่เดียว ถ้าหากอยากจะเลือกใช้สัตว์ประเภทนี้ไว้ไล่หรือกำจัดหนูแล้วละก้อ ก็ควรเป็นงูชนิดที่ไม่มีพิษและควรมีอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงน้อยที่สุด เช่น งูสิง(สามารถเลี้ยงได้ง่าย) และงูเหลือม(ไว้ต่อกรกับหนูท่อขนากใหญ่) แค่ไปปล่อยในโรงปล่อยไว้บริเวณที่มีหนูรับรองร้อยทั้งร้อย หนูหนีกระเจิงแน่นอน เพราะหากไม่หนีก็คงกลายเป็นอาหารอันโอชะของงูแน่นอน
- งูสิง - เป็นงูไม่มีพิษ สามารถเลื้อยหรือเคลื่อนไหวปราดเปรียวว่องไวมาก บางครั้งจะพบเห็นตามเรือกสวนบ้านเรือนทั่วๆไป ชอบมาหาจับหนูกิน บางทีลามปามไปถึงขนาดมาลักกินไก่ในเล้าด้วย คนแถวภาคอีสานนิยมนำไปประกอบอาหาร (ต้ม-แกงไปตามเรื่อง)
- งูเหลือม - เป็นงูพิษอ่อนมาก ไม่ค่อยอันตรายต่อคน อาจฉกกัดบ้างแล้วแต่อารมณ์ของแต่ละตัว เคยเห็นใหญ่สุดก็เกือบสองเมตร ชอบกินหนูมาก แต่ที่ต้องระวังโดยเฉพาะตัวที่ขนาดใหญ่มากๆ จะแอบเขมือบเอาสัตว์เลี้ยงเราตัวเล็กเราได้ ดังน้้น ถ้าใม่ได้ใช้งานก็ควรขังเอาไว้ปลอดภัยไว้ก่อน

Credit : http://board.trekkingthai.com/
- นกเค้าแมว - สามารถใช้กำจัดหนูได้ เพียงแต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการนำมาเลี้ยง ที่สำคัญในปัจจุบันหาไม่ค่อยจะมีแล้ว จึงไม่อยากจะแนะนำสักเท่าไหร่? เอาไว้เป็นความรู้ก็แล้วกัน
Credit : ilovetogo.com
การเลือกวิธีควบคุมกำจัดหนูที่เหมาะสมอย่างไรดี?
ปัญหาการมีหนูเข้ามากัดสายไฟและอุปกรณ์ที่สำคัญในห้องเครื่องรถยนต์ที่จอดอยู่ในโรงเก็บรถยนต์ สร้างความเดือดร้อนและอาจต้องเสีนค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมาก การที่จะตัดสินใจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่่งนั้นอาจเป็นเรื่องยากยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหนูบ้านเอาเสียเลย จะให้เริ่มจากตรงไหน? สังเกตอย่างไร? กันดีล่ะ
ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆทำเป็นแผนภูมิคล้ายๆกับ "แผนภูมิการวินิจฉัยและการรักษาโรค" ที่คุณหมอทั้งหลายใช้เรียนกัน น่าจะดูเข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจกว่าการอธิบายแบบทั่วๆไป ขอเรียกว่า "แผนภูมิการวินิจฉัยชนิดและการควบคุมกำจัดหนูบ้าน" หน้าตาและเนื้อหาจะเป็นอย่างไรไปดูกันได้เลย
แผนภูมิการแยกชนิดของหนูบ้าน
แผนภูมิที่ 1 : หนูท่อ
แผนภูมิที่ 2 : หนูท้องขาว
แผนภูมิที่ 3 : หนูจี๊ด
แผนภูมิที่ 4 : หนูหริ่ง
วิธีควบคุมกำจัดหนูที่กัดแทะสายไฟและอุปกรณ์ในรถยนต์